เปิดตัวนวัตกรรมชุดตรวจ ATK จากผลงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สามารถตรวจได้รวดเร็วทราบผลใน 15 นาที แม่นยำถึง 96% และรองรับผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์
นายดนัย ประพันธ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอฟฟิโนม จำกัด ผู้พัฒนาชุดตรวจ ATK ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้เป็นงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านการวิจัยและการประเมินประสิทธิภาพทางคลินิกตามเกณฑ์มาตรฐานของ อย. โดยขณะนี้บริษัท ได้เจรจาขออนุญาตใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวจากทางมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นชุดตรวจแบบง่ายและรวดเร็วด้วยหลักการอิมมูโนโครมาโตกราฟี ที่มีกลไกการทำงานคล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ แต่วัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในตัวอย่างหลังโพรงจมูกจากผู้ป่วย ใช้เวลาในการทดสอบเพียง 15 นาที น้ำยาทดสอบสามารถฆ่าเชื้อได้ และก้าน swab เป็นแบบสั้น ช่วยลดความกังวลในผู้ตรวจบางรายที่กลัวในเรื่องอาการบาดเจ็บจากชุดตรวจบางประเภทที่มีก้านที่ยาวเกินไป
นอกจากนี้ น้ำยาทดสอบยังสามารถฆ่าเชื้อโรค และมีถุงซิปไว้สำหรับบรรจุขยะติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดขั้น จึงปลอดภัยทั้งกับผู้ใกล้ชิดและผู้ที่อาจสัมผัสสิ่งส่งตรวจ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมีได้มีการตั้งราคาขาย 150 บาท จำหน่ายทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เช่น บริษัทตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ฯลฯ ส่วนในอนาคตหากมีการผลิตได้มากขึ้นก็จะมีการปรับราคาให้ถูกลงอย่างแน่นอน
ด้านความแม่นยำของชุดตรวจนั้นมีความไวถึง 96% และความจำเพาะ 100% ค่าทำนายผลบวก (Positive Predictive Value) เท่ากับ 95.91% และค่าทำนายผลลบ (Negative Predictive Value) เท่ากับ 98.01% ผ่านการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมาแล้วจำนวน 200 ราย ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพและผลคลาดเคลื่อนในอัตราที่ต่ำมาก
ส่วนในด้านกำลังในการผลิต ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 100,000 – 120,000 ชุดต่อเดือน และทางบริษัทกำลังมีการวางแผนสั่งซื้อเครื่องอัตโนมัติเพิ่มเติมคาดว่าต้นปีหน้าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 200,000 ชุดต่อเดือน นอกจากนี้ ยังวางแผนการขยายโรงงานไปในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ และเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับที่สูง ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน คาดว่าจะช่วยในเรื่องกำลังการผลิตที่อาจเพิ่มได้สูงถึง 600,000 – 800,000 ชุดต่อเดือน ซึ่งจะเพียงพอต่อการตรวจหาเชื้อในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีการเปิดประเทศและเปิดรับการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบอย่างแน่นอน
นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด–19 ทาง NIA จึงได้มีการสนับสนุนเงินทุนในการผลิต “ชุดตรวจหาแอนติเจนที่จำเพาะกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ภายใต้วงเงิน 2,800,000 บาท โดยมุ่งหวังจะเพิ่มกำลังการผลิตชุดตรวจฯ ภายในประเทศ รวมถึงลดต้นทุนการนำเข้า พร้อมทั้งผลักดันภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้าถึงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและได้รับผลการตรวจที่แม่นยำ
NIA และผู้พัฒนาชุดตรวจฯ มีแผนนำร่องการกระจายนวัตกรรมดังกล่าวจำนวน 20,000 ชุดให้กับกลุ่มโรงพยาบาล อสม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังลึก, สำนักงานเทศบาลเมืองชลบุรี, ศูนย์บริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้, สำนักงานสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องมีการรักษาอาการภายใต้ระบบ Home – Isolation ซึ่งจะถูกนำส่งครบทั้งหมด 20,000 ชุดภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้
นอกเหนือจากนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีแผนในการส่งมอบนวัตกรรมภายใต้การสนับสนุนของ NIA อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบคิวคิว (QueQ) สำหรับการลดปัญหาความแออัดของการให้บริการภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ในโรงพยาบาลกว่า 10 จังหวัดของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ชุดอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องช่วยหายใจอัตราการไหลสูง หรือ High flow Nasal Cannula Control ที่สามารถนำไปใช้งานในสถานพยาบาลภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและยังขาดแคลนในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงโครงการ Homecare by Agnos ระบบแพลตฟอร์มดูแลผู้ป่วยโดยชุมชน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการโดยกลุ่มแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสา ที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยระหว่างรอเข้าระบบการรักษาแบบครบวงจร โดยเฉพาะในกลุ่มอาการสีเขียวและสีเหลืองที่คงค้างนอกระบบ ซึ่งแพทย์ 1 รายในแพลตฟอร์มสามารถดูแลคนไข้ได้ 50-100 รายต่อวัน
ที่มา : www.mcot.net