“แอฟฟิโนม” บริษัทนวัตกรรมทางการแพทย์สัญชาติไทย ได้รับมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO13485 ประเภทชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Test) และผ่านการรับรองจาก อย. ล่าสุดเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การผลิตแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยสำหรับชุดตรวจโควิดแอนติเจน

ดนัย ประพันธ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอฟฟิโนม จำกัด กล่าวว่า เจตนารมณ์ในการก่อตั้งบริษัทฯ เกิดจากวิสัยทัศน์ที่ต้องการเห็น บริษัทนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นของคนไทย และต้องการที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในประเทศไทย เนื่องจากตลอด 20 ปีที่ทำงานในวงการเทคนิคการแพทย์ ตั้งแต่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ผู้แทนขายสินค้าทางการแพทย์ แทบไม่เคยพบหรือมีเพียงส่วนน้อยมากที่สินค้าในห้องปฏิบัติการตีตราว่าเป็น “MADE IN THAILAND” และถูกใช้อย่างแพร่หลาย

กระทั่งมีโอกาสทำธุรกิจในการเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์จากห้องปฏิบัติการในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทำให้เห็นช่องทาง วิธีการ และโอกาสของการทำธุรกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมองเห็นช่องทางในการขยายธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งต้องการสนับสนุนนักวิจัยไทยในการต่อยอดการพัฒนาผลงานวิจัยสู่ระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์

ดึงงานวิจัยขยายสู่เชิงพาณิชย์

ส่วนการจับตลาดชุดตรวจโควิด ดนัย เปิดฉากเล่าถึงมุมมองตรงจุดนี้ว่า การเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์แห่งเดียวในประเทศไทย ในการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ตรวจโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมา แอฟฟิโนม ได้มีการเข้าร่วมสนับสนุนงานวิจัยของ รศ.ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง หัวหน้าศูนย์การออกแบบนวัตกรรมชีวการแพทย์ ภาควิชาปรสิตวิทยา และหัวหน้าหน่วยบ่มเพาะวิจัยชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาชุดตรวจ Rapid Test สำหรับโรคไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ โรคประจำถิ่น เช่น โรคฉี่หนู และโรคสครับไทฟัส

เนื่องจากชุดตรวจโรคเหล่านี้จากต่างประเทศมีน้อย หรือมีแต่ราคาแพง เพราะไม่ใช่โรคที่มีความต้องการซื้อมากในประเทศผู้ผลิต ดังนั้น แอฟฟิโนม เล็งเห็นโอกาสในการเป็นผู้ผลิตชุดตรวจเหล่านี้ในประเทศไทย  และมองไปถึงการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) จึงตัดสินใจสนับสนุนโครงการวิจัยนี้ กระทั่งมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ได้มีโอกาสปรึกษาถึงการพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ขึ้นในประเทศ จนกระทั่งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยจนแล้วเสร็จ บริษัทฯ จึงติดต่อเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในการผลิตแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

ที่มา : www.bangkokbiznews.com